ทีม หุ่นยนต์กู้ภัยไทย iRAP_PRO จากม.เทคโนฯพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คว้าแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยโลก เป็นสมัยที่ 4 ในการแข่งขัน World Robocup Rescue 2009 ที่เมืองกราซ ประเทศออสเตรีย
จากผู้เข้าแข่งขันกว่า 300 ทีม 30 ประเทศทั่วโลก
นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เอสซีจี ในฐานะผู้สนับสนุนการแข่งขัน
หุ่นยนต์กู้ภัยไทยร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมว่า
ทีมเยาวชนไทย iRAP_PRO มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สามารถคว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัย(World RoboCup)ได้อย่างสง่างาม นับเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันที่ทีมเยาวชนไทยครองอันดับที่ 1 ในเวทีหุ่นยนต์กู้ภัยโลก การแข่งขันครั้งนี้ iRAP_PRO สามารถค้นหาผู้ประสบภัยได้สูงสุดถึง 38 ราย โดยทำคะแนนนำเป็นที่ 1 ตลอดทุกรอบการแข่งขัน ทิ้งห่างรองแชมป์ คือ ทีมญี่ปุ่น Pelican United ซึ่งค้นหาผู้ประสบภัยได้ 33 ราย ส่วนอันดับสาม คือ ทีม MRL จากอิหร่าน อันดับสี่ คือ ทีมญี่ปุ่น Shinobi รวมกับทีมสวีเดน RRT UPPSALA และอันดับห้า คือทีมออสเตรเลีย CASualty
นางวีนัสกล่าวว่า"SCG ยินดีและชื่นชมในความสามารถของเด็กไทยอย่างยิ่ง ความสำเร็จในครั้งนี้ ทำให้ต่างชาติทึ่ง และยอมรับในความสามารถของเยาวชนไทยมากขึ้น ต้องยอมรับว่าเด็กไทยของเราเก่งจริงๆ สามารถเอาชนะคู่แข่ง ซึ่งเป็นทีมมืออาชีพและมีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีเป็นที่ยอมรับของโลก ทั้งเยอรมนี สวีเดน สหรัฐอเมริกา แคนนาดา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น นอกจากความสามารถของทุกคนในทีมแล้ว iRAP_PRO ยังมีความตั้งใจและความมุ่งมั่นสูงมากที่จะนำชัยชนะกลับประเทศไทย"
สำหรับทีมแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยนี้ ประกอบด้วย นายคฑาวุฒิ อุชชิน นายสุรเชษฐ์ อินเทียม นายณัฐกร แซ่เอี้ยว นายธีรวัฒน์ เบ็ญจวิไลยกุล นายสุธี คำใจคง และนายภราดร ทับทิมแดง ทั้งหมดเป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
สำหรับ World RoboCup เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 แบ่งการแข่งขันออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ หุ่นยนต์กู้ภัย (RoboCup Rescue) หุ่นยนต์ฟุตบอล(RoboCup Soccer) หุ่นยนต์ทำงานบ้าน (RoboCup @Home) และหุ่นยนต์ระดับเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี (RoboCup Junior) โดยในปี 2009 นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-5 กรกฎาคม ที่เมืองกราซ ประเทศออสเตรีย มีผู้สมัครเข้าแข่งขันหุ่นยนต์ทุกประเภทกว่า 300 ทีม จากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก
อ้างอิง:matichon.co.th
|
ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP_RRO สุดภูมิใจคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 4 กลับประเทศ ทั่วโลกยอมรับความสามารถ สุดยอดทีมหุ่นยนต์กู้ภัยไทย iRAP_PRO นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คว้าแชมป์โลก World RoboCup Rescue 2009 ท่ามกลางความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ
วี นัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เอสซีจี ในฐานะผู้สนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยไทย และส่งเยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขัน World Robocup Rescue 2009 กล่าวว่า ทีม iRAP_PRO นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศด้วยการคว้าแชมป์โลกเป็นสมัยที่ 4 ในการแข่งขัน World RoboCup Rescue 2009 ที่เมืองกราซ ประเทศออสเตรีย ความสำเร็จในครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าเด็กไทยมีศักยภาพไม่แพ้ชาติใดในโลก ถ้าได้รับการพัฒนาอย่างถูกทาง เอสซีจียังคงมุ่งมั่นให้การสนับสนุนเด็กไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการตื่นตัวกับนวัตกรรมใหม่ๆ ในเรื่องของเทคโนโลยี และองค์ความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนกับชาวชาติ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งให้เด็กเหล่านี้ได้มีการพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อ ไปในอนาคต สำหรับทีม iRAP_PRO เดินทางกลับเมืองไทยในวันที่ 8 ก.ค. เวลา 14.20 น. ด้วยเที่ยวบิน OS025 คณาจารย์ และเพื่อนๆ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พร้อมสื่อมวลชนได้ต้อนรับอย่างอบอุ่นที่สนามบินสุวรรณภูมิ
อาจารย์ชัชชัย เสริมพงษ์พันธ์ รองคณบดีฝ่ายกิจกรรมนักศึกษา ผู้ควบคุมทีมกล่าวว่า ทีม iRAP_PRO จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือมีความพร้อมมาก เนื่องจากพัฒนาหุ่นยนต์กู้ภัย 3 ตัว ให้มีสมรรถนะสูงสุด ประกอบด้วย หุ่นยนต์บังคับด้วยมือ (Mobility) 2 ตัว และหุ่นยนต์อัตโนมัติ (Autonomous) 1 ตัว ใช้ระบบสายพานในการขับเคลื่อน เคลื่อนที่ได้ทุกสภาพผิว จุดเด่นคือแขนกลที่มีกล้องติดอยู่ และมีความคล่องตัวสูง กำหนดทิศทางการเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ หมุนได้ 360 องศา และสามารถยืดความยาวเพื่อเพิ่มขอบเขตการมองเห็นได้
นายคฑาวุฒิ อุชชิน หรือน้องโฟม ผู้บังคับหุ่นยนต์ทีมไทย iRAP_PRO กระโดดตัวลอยหลังได้รับชัยชนะ และเผยว่าการทำงานเป็นทีมทำให้เราได้รับชัยชนะ หลังจากการแข่งขันทุกรอบ พวกเราจะมาสรุปผล และวิเคราะห์คู่แข่งเพื่อวางกลยุทธ์ รวมทั้งเขียนโปรแกรม และปรับปรุงหุ่นยนต์ ให้เหมาะกับสนามการแข่งขันในรอบต่อไป ซึ่งทำให้หุ่นยนต์กู้ภัยของเรามีสมรรถนะสูงขึ้นเรื่อย ๆ
“จาก การที่ทีมไทยได้คว้าแชมป์โลกมาสามปีซ้อน พวกเราจึงลดความกดดัน ด้วยการทุ่มเทและเตรียมความพร้อมก่อนมาแข่งขันมากกว่า 6 เดือน โดยทีมงานได้แบ่งหน้าที่ ความรับผิดชอบกันเป็นอย่างดี ทำให้ประสานการทำงานภายในเวลาอันสั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนผมทำหน้าที่เป็นผู้บังคับหุ่นยนต์ ต้องหมั่นฝึกซ้อม ให้เสมือนว่าหุ่นยนต์เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายของผม”
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความสามารถของเด็กไทยเป็นที่ยอมรับของเวทีโลก และหุ่นยนต์กู้ภัยของเราก็มีความโดดเด่นอย่างมาก ในขณะที่ทีม iRAP_PROก็เตรียมความพร้อมมาอย่างดี แต่เราต้องยอมรับว่าทุกประเทศต่างก็ตื่นตัวเรื่องการพัฒนาหุ่นยนต์กันมาก หลังจากที่ไทยครองแชมป์ติดต่อกันมาหลายปี จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทีมเด็กไทยจะต้องพัฒนาให้มากยิ่งขึ้น หากเราย่ำอยู่กับที่ ประเทศอื่นๆ อาจตามทัน เด็กไทยมีความสามารถไม่แพ้ชาติชาติที่มีเทคโนโลยีสูง ๆ แต่ขาดเรื่องการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง จึงอยากให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาร่วมกันสนับสนุนอย่างจริง จัง และเด็กเหล่านี้จะสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศได้
ขณะนี้รัฐบาลได้งบประมาณ 250 ล้านบาท เพื่อสานต่อโครงการยุทธศาสตร์หุ่นยนต์ ตามแผนแม่บทหุ่นยนต์แห่งชาติ ซึ่งหลังจากนี้ก็จะมีการจัดทำแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อรองรับ อาทิ การจัดตั้งหน่วยงานขึ่นมารับผิดชอบโดยตรง รวมไปถึงการจัดทำแผนส่งเสริมการวิจัย เพื่อจะนำหุ่นยนต์ไปใช้ในงานต่างๆ ในอนาคต เช่น ใช้ในด้านการเกษตร ด้านการแพทย์ ด้านอุตสาหกรรม รวมไปถึงด้านความมั่นคงอย่าง เช่น หุ่นยนต์กู้ภัยที่เด็กไทยกำลังสร้างชื่อเสียงอยู่ในขณะนี้ โดยคาดว่าจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในเดือนตุลาคม 2552
จากความสามารถของทีมไทยในเวทีระดับโลกในวันนี้ ทำให้ทีมต่างชาติอยากจะมาประลองประชันฝีมือกับเด็กไทย โดยในช่วงเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ เอสซีจี และสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย จะจัดการแข่งขัน Thailand Rescue Robot Championship ที่ประเทศไทย และได้เชิญทีมจากนานาประเทศมาร่วมแข่งขัน ซึ่งทีมที่ตอบรับมาร่วมแข่งขันแล้ว ได้แก่ ทีมจากประเทศญี่ปุ่น อิหร่าน ออสเตรเลีย เยอรมัน สวีเดน รวมทั้งจะมีกรรมการตัดสิน World Robocup Rescue Committee เพื่อยกระดับมาตราฐานการแข่งขันของไทยสู่ระดับโลก
World RoboCup เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 แบ่งการแข่งขันออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ หุ่นยนต์กู้ภัย (RoboCup Rescue) หุ่นยนต์ฟุตบอล(RoboCup Soccer) หุ่นยนต์ทำงานบ้าน (RoboCup @Home) และหุ่นยนต์ระดับเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี (RoboCup Junior) โดยในปี 2009 นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-5 กรกฎาคม ที่เมืองกราซ ประเทศออสเตรีย มีผู้สมัครเข้าแข่งขันหุ่นยนต์ทุกประเภทกว่า 300 ทีม จากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก
อ้างอิง:hpc.ee.kmutnb.ac.th